ห้องเรียนครูยศพัทธ์ วิชาทัศนศิลป์ ป.5

สีน้ำ เป็นสีที่เมื่อลงบนภาพวาดแล้วจะให้ความรู้สึกสวยงามและเป็นธรรมชาติ แต่เชื่อว่าหลายคนประสบปัญหาเป็นอย่างมากเมื่อต้องสร้างสรรค์ภาพด้วยสีน้ำ ทั้งปัญหาสีไม่เท่ากัน สีจับตัวเป็นก้อน และอีกหลาย ๆ ปัญหาทำให้ชิ้นงานออกมาไม่สวย วันนี้ เราได้รวบรวมเทคนิคการระบายสีน้ำแบบง่ายๆ แต่สวยไม่แพ้จิตรกรมืออาชีพมาฝากค่ะ

เทคนิคการระบายให้สีเรียบ

เทคนิคระบายสีน้ำให้เรียบคือต้องผสมสีให้มีความพอเหมาะไม่หนืดเกินและไม่เหลวจนเกินไป โดยใช้พู่กันแต้มสีลงในถาดผสมแล้วเติมน้ำทีละนิดคนจนให้น้ำกับสีเข้ากัน เมื่อเข้ากันแล้วให้ลองใช้พู่กันไปป้ายลงในกระดาษที่ไม่ได้ใช้เพื่อทดสอบว่ามีความข้นพอเหมาะกับที่เราต้องการหรือยัง เพื่อพอเหมาะแล้วจึงทำการลงสีในงานจริง โดยวิธีการลงสีที่ถูกต้องคือ ให้ใช้พู่กันจุ่มสีแล้วปาดลงที่ชิ้นงานหนึ่งครั้ง ครั้งต่อไปก็ให้ปาดไปในทิศทางเดียวกันโดยปาดให้เหลื่อมกับเส้นก่อนหน้าทุกครั้งเพื่อเป็นการเก็บสีไม่ให้มีรอยต่อ ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนเสร็จ เท่านี้ คุณก็จะได้ภาพระบายสีน้ำที่เรียบและสวยงามตามต้องการ

เทคนิคการไล่สี

เป็นการเพิ่มมิติให้กับภาพของคุณ การไล่สีมีทั้งแบบจากสีเข้มไปสีอ่อนและจากสีอ่อนไปสีเข้มตามที่เราต้องการ วิธีการก็ทำเช่นเดียวกับการระบายสีให้เรียบคือปาดสีทับกันไปเรื่อย ๆ แต่จะแตกต่างกันที่เราจะเพิ่มหรือลดความเข้มของสีทุกครั้งในการปาด หากจะไล่จากอ่อนไปเข้มก็ต้องบีบสีเพิ่มความเข้มไปในจำนวนที่เท่ากันทุกครั้ง ในทางตรงกันข้ามหากจะไล่จากสีเข้มไปสีอ่อนก็ต้องเพิ่มน้ำไปในจำนวนเท่ากันเช่นกัน

ส่วนอีกแบบหนึ่งคือ การไล่สีคนละสีที่มีจำนวน 2 สีขึ้นไป วิธีการก็ไม่แตกต่างจากไล่สีเดียวกัน เพียงแต่เราต้องล้างพู่กันแล้วระบายสีที่ต่างกันปาดทับให้เหลื่อมเส้นเพื่อเก็บสีเช่นเคย
เทคนิคระบายแบบสีเปียกบนกระดาษแห้ง
เป็นการระบายโดยใช้สีผสมน้ำให้พอเหมาะแล้วค่อยไประบายบนกระดาษแห้ง สีที่ได้จากการระบายจะเรียบ ใช้สำหรับระบายภาพที่เป็นวัตถุที่มีพื้นผิวเรียบ เช่น ฝาหนังห้อง พื้นบ้าน เป็นต้น

เทคนิคการระบายแบบสีแห้งบนกระดาษแห้ง

เป็นการระบายโดยใช้สีที่ไม่ผสมน้ำหรือผสมเพียงเล็กน้อยเท่านั้นลงบนกระดาษแห้ง สีที่ได้จากการระบายจะ

ขรุขระ ใช้สำหรับระบายภาพที่มีวัตถุที่มีพื้นผิวหยาบ เช่น หน้าผาหิน พื้นทางเดินที่มีลักษณะขรุขระ เป็นต้น

เทคนิคการระบายแบบสีเปียกบนกระดาษเปียก

เป็นการระบายโดยใช้สีที่ผสมน้ำลงไปบนกระดาษที่เปียกโดยการลงน้ำไว้แล้ว สีที่ได้จากการระบายจะซึมเข้าไป

ในกระดาษได้มากกว่าปกติและจะมีลักษณะนวล ๆ ใช้สำหรับระบายภาพที่ต้องการความรู้สึกนุ่มนวลหรือชุ่มน้ำ เช่น แม่น้ำลำธาร ท้องฟ้า เป็นต้น